นับถอยหลังไม่ถึง 24 ชั่วโมง ถึงเวลากาบัตรเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ผ่านโค้งสุดท้ายพุ่งเข้าทางตรง อีกไม่กี่อึดใจได้รู้ผล ชาว กทม.จะกำหนดให้ใครเป็น ผู้ว่าฯเมืองกรุงคนที่ 17
เต็งหนึ่ง “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” อดีต รมว.คมนาคม ที่หนีค่ายการเมืองมาลงในนามอิสระ จะนำโด่งม้วนเดียวจบ ตามผลสำรวจหลายสำนักโพลก่อนหน้านี้ได้หรือไม่
ตามรูปการณ์เป็นใจที่กลุ่มคู่แข่งฝ่ายอนุรักษนิยมทั้ง พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง, สกลธี ภัททิยกุล, สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ และ รสนา โตสิตระกูล หั่นแต้มกันเอง โอกาสฮึดก๊อกสุดท้าย พลิกแซงเข้าป้ายเป็นไปได้ลำบาก
อินฟลูเอนเซอร์ชาวสลิ่มเสียงแตกช่วงนาทีสำคัญ ถือหางกันคนละเบอร์ ไม่เทคะแนนให้กัน ก็เลยยิ่งถูกทิ้งขาดไปกันใหญ่
แม้จะใช้วาทกรรม “ไม่เลือกเรา เขามาแน่” พร้อมปลุกผีต้าน “ระบอบทักษิณ” ช่วยขวาง แต่ก็จุดไม่ติด
ลูกไม้เดิมๆที่เคยปั่นกระแสสำเร็จในอดีต เร้าอารมณ์คนเมืองกรุงให้คล้อยตามไม่ได้อีก เพราะบริบทการเมืองเปลี่ยนไป ผู้สมัครแตกเป็นหลายขั้ว ไม่มีใครยอมแบ่งแต้มใคร
แต่ก็ไม่มีอะไรรับประกันความชัวร์ “ชัชชาติ” จะลอยลำจริงหรือไม่ เพราะก็เดาใจคน กทม.ยาก สุดท้ายจะลงคะแนนไปทิศทางใด หากคะแนน วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ผู้สมัครจากพรรคก้าวไกล ดีวันดีคืนในตอนปลายขึ้นมาเท่าไร ก็ไปหั่นคะแนน “ชัชชาติ” ลดลงไปอีก
ต้องรอคำตอบภายหลังการปิดหีบวันที่ 22 พ.ค.นี้ จะเกิดรายการแหกโพลหรือไม่
แต่ที่แน่ๆผลหย่อนบัตรผู้ว่าฯ กทม. และ ส.ก. จะเป็นตัวชี้วัดการเลือกตั้งสนามใหญ่ในอนาคต เนื่องจาก กทม.ถูกมองเป็นเมืองจำลองประเทศไทย มีเดิมพันสูงกว่าทุกพื้นที่
ขั้วใดชนะศึกเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. หรือครองความเป็นเจ้าสนาม ส.ก. ย่อมมีผลทางจิตวิทยา ปลุกความมั่นใจ นำไปปั่นกระแสความนิยมในการเลือกตั้ง ส.ส.ครั้งต่อไปที่ทิ้งช่วงห่างกันไม่ถึงปี
สนามท้องถิ่นเมืองบางกอกจะสะท้อนคำตอบพรรคใหญ่จะถูกชาวกรุงพิพากษาอย่างไร
พรรคประชาธิปัตย์ได้ยืมสังเวียนเป็นบทพิสูจน์ จะฟื้นศรัทธาหรือฟุบยาว หลังจากสูญพันธุ์ ส.ส.กทม. ในการเลือกตั้งปี 2562
ฝั่งก้าวไกลก็พอได้เห็นเค้าลางจะปลุก “พลังส้ม” เมืองหลวง ทะยานสู่ “ส้มทั้งแผ่นดิน” ในการเลือกตั้งใหญ่ได้หรือไม่ หลังกระแสพรรคตั้งท่ามาแรงในสมรภูมิรอบนี้
ขยับมาที่พรรคเพื่อไทย แม้ไม่เปิดศึกแย่งเก้าอี้ผู้ว่าฯเมืองกรุง แต่ถ้ากวาด ส.ก.ทะลุเป้า บวกกติกาใหม่ บัตร 2 ใบ ก็ยิ่งเปิดทางให้ลูกทีมคนแดนไกล กลับมาทวงความยิ่งใหญ่ ประตูแลนด์สไลด์อ้ากว้างขึ้น
หรือแม้กระทั่งค่ายน้องใหม่ “ไทยสร้างไทย” ของ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ แม้ “ผู้พันปุ่น” น.ต.ศิธา ทิวารี จะพลิกล็อกยากได้แต้มเลือกผู้ว่าฯ กทม.มาเป็นที่หนึ่ง แต่ก็ได้วัดระยะมีกองหนุนเมืองกรุงแน่นพอ ลุยต่อด้วยลำแข้งตัวเองในสนามระดับชาติเพียงใด ภายหลังแยกตัวออกจากพรรคเพื่อไทย
แต่ที่ต้องลุ้นหนักกว่าใครคือ พรรคพลังประชารัฐ ที่ด่านท้องถิ่นเมืองหลวงช่วยทดสอบกระแสความนิยม “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม จะดิ่งลงแค่ไหนในสายตาคนกรุง
หนำซ้ำยังมีปัญหาในพรรค กลุ่มผู้สมัคร ส.ก.แบ่งฝ่ายกันในทีม หันไปเทแต้มให้อดีตหัวโจก กปปส. “สกลธี” ขัดใจผู้มากบารมีในพรรคที่อยากให้หนุนหลัง พล.ต.อ.อัศวิน
พลังประชารัฐเหนื่อยหนัก มีปัญหาเรื้อรังเรื่องความเป็นเอกภาพ แบ่งฝักแบ่งฝ่ายทั้ง ส.ส.-ส.ก. เวทีเลือกตั้ง ส.ก.ต้องเผชิญคู่แข่งประชาธิปัตย์ เพื่อไทย ก้าวไกล ยังไม่รู้จะได้ที่นั่งตามเป้าหรือไม่
หากผลการหย่อนบัตรสนามเล็กล้มเหลว ก็สะเทือนยาวถึงสนามใหญ่ ศึกเลือกตั้ง ส.ส.สมัยหน้า อาจจบเห่แทบหมดที่ยืนใน กทม.
สนามเมืองกรุงวัดเสถียรภาพความมั่นคงตัวผู้นำ ถ้าหล่นวูบ “บิ๊กตู่” เองก็ลำบากแน่ ตามไทม์ไลน์ที่กำลังจะเปิดเทอมประชุมสภาฯรอบใหม่ตั้งแต่วันที่ 22 พ.ค.เป็นต้นไป
ด่านเสี่ยงตระหง่านตรงหน้าหลายเรื่อง ตั้งแต่งบรายจ่ายปี 2566 การพิจารณาร่างกฎหมายลูก 2 ฉบับ การแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 272 เรื่องปิดสวิตช์ ส.ว. และการตีความคุณสมบัติดำรงตำแหน่งนายกฯ 8 ปี
ไหนจะต้องระวังฝ่ายค้านล็อกเป้ารอถล่มโค่นรัฐบาล และยังต้องคอยระแวงเพื่อนร่วมรัฐบาลแทงข้างหลัง เพื่อฉกฉวยชิงความได้เปรียบทางการเมือง
สุ่มเสี่ยงเกิดอุบัติเหตุการเมืองทุกเมื่อ ในยามที่ภูมิคุ้มกันจากประชาชนเกลี้ยงหน้าตัก!!!
ทีมข่าวการเมือง
{fullwidth}